ค้นหาบล็อกนี้

5/03/2554

พระราชวังของกษัตริย์เชียงใหม่

หอคำ พระราชวังของกษัตริย์เชียงใหม่


หอคำ
หอคำ พระราชวังของกษัตริย์เชียงใหม่
คำว่า หอคำ เป็นคำของคนไทหลายกลุ่มที่ใช้เรียกที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมืองหรือ
ที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่า กษัตริย์
คำว่า หอคำ ก็คือคำว่า พระราชวังที่คนไทยรู้จักกันดี
กลุ่มคนไทที่เรียกพระราชวังว่าหอคำ ได้แก่คนไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทยอง ไทอาหม และไทยวน การศึกษาของบรรจบ พันธุเมธา (ไปสอบคำไท. ๒๕๒๒) คนไทเขินในเมืองเชียงตุง คนไทใหญ่ในเมืองไทย รัฐฉานของพม่าเรียกที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมืองว่า หอคำ และ หอเจ้าฟ้า
การศึกษาของเรณุ วิชาศิลป์ (พงศาวดารไทอาหม. ๒๕๓๙) พบว่าคนไทอาหมแห่งรัฐอัสสัมของอินเดียภาคตะวันออกติดกับพม่าเรียกที่อยู่ของ เจ้าผู้ครองเมืองว่า หอนอน หรือ หอหลวง
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่และล้านนาเรียกที่อยู่ของ
เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และล้านนา ว่า “หอคำ” โดยตลอด


หอคำหลวง
ส่วนคนไทในสยามอยู่ใกล้ชิดกับอารยธรรมของเขมรซึ่งรับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง คนไทสยามจึงหันไปใช้คำว่า “พระราชวัง”หรือ “พระบรมมหาราชวัง” รวมทั้งคำว่ากษัตริย์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากเขมร ขณะที่คนไทกลุ่มอื่น ๆ ใช้คำว่า เจ้าเมือง, เจ้าหลวง หรือ เจ้าฟ้า เพื่อเรียกกษัตริย์
เนื่องจากคนไทสยามสามารถสถาปนาอาณาจักร ขึ้นได้อย่างมั่นคง แต่คนไทกลุ่มอื่น ๆ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ และยังสูญเสียอำนาจการปกครองและศิลปวัฒนธรรมตลอดจนภาษาถูกทำลาย คำว่า “หอคำ” จึงค่อย ๆ หายไป คนไทยทั่วประเทศจึงรู้จักแต่คำว่าพระราชวัง
นอกจากคำว่า “หอคำ” ยังมีคำว่า “คุ้มหลวง” ที่ใช้ในความหมายเดียวกันและปรากฏในเอกสารตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ด้วย นั่นคือคำว่า พระบรมมหาราชวัง นั่นเอง
แต่คำว่า “คุ้ม” คำเดียวแปลได้ ๒ อย่างคือ คุ้มที่หมายถึงหอคำ คือที่ประทับของเจ้าผู้ครองเมือง ซึ่งถ้าต้องการความหมายที่ชัดเจนก็ต้องใช้คำว่า คุ้มหลวง แต่หากเป็นคำว่าคุ้ม ยังอาจหมายถึงที่ประทับของเจ้านายในแง่นี้ คำว่าคุ้ม คำเดียวอาจหมายถึงคำว่า “วัง” ในภาษาไทย
กล่าวอีกแง่หนึ่ง คุ้มหรือวังมีได้หลายแห่งเพราะเจ้านายมีหลายคน แต่คำว่าคุ้มหลวง หรือหอคำก็คือพระราชวัง แม้จะมีหลายแห่งแต่ก็เป็นของเจ้านายทั่ว ๆ ไป จากการสำรวจของสมโชติ อ๋องสกุล ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ คุ้มภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่มีประมาณ ๒๕ คุ้ม แบ่งออกได้เป็น ๖ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑. คุ้มที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากทายาท
๒. คุ้มที่ทายาทขายไป แต่ยังคงได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
๓. คุ้มที่ทายาทรื้อเพื่อถวายวัด
๔. คุ้มที่ทายาทมอบให้ทางราชการ แต่ถูกรื้อไปแล้ว
๕. คุ้มที่ทายาทขายให้คนอื่น และถูกรื้อไปแล้ว เหลือแต่รูปภาพ และ
๖. คุ้มที่เหลือแต่ภาพ

 

หอคำที่เหลือแต่ภาพ
การที่คนไทในบริเวณหุบเขาต่าง ๆ คือ ไทยวน (คนเมืองใน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงตุง ในพม่า )
ไทลื้อ ไทยอง ไทใหญ่ ไทเขิน และไทอาหม มีคำใกล้เคียงกัน ก็สะท้อนให้เห็นประเด็นสำคัญ ๔ ข้อคือ
หนึ่ง ความเป็นมาที่คล้ายคลึงกันเพราะอยู่ใกล้เคียงกันและรับอิทธิพลเดียวกันและ
สอง คนไทสยามอยู่ใกล้เขมร ชื่นชมและยอมรับอารยธรรมเขมรและอินเดียคนไทสยามจึงรับอารยธรรมเหล่านั้นมา เป็นของตน และเมื่อสามารถสร้างอาณาจักรไทยได้ และเข้ายึดครองรัฐของคนไทกลุ่มอื่น ๆ รัฐไทสยามจึงขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม
ของเขมร – อินเดียไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ คำที่มีอยู่เดิมในแต่ละท้องถิ่นจึงเลือนหายไป แทบไม่มีใครรู้จัก ขณะที่คำจากไทสยามและวัฒนธรรมสยามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สาม การที่กลุ่มคนไทส่วนใหญ่อยู่ในหุบเขา มีวัฒนธรรมร่วมกันค่อนข้างมาก และวัฒนธรรมเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงช้าด้วยสภาพภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว อาจสะท้อนให้เห็นรากเหง้าหลายประการที่คนไทในอดีตเคยมี แต่เนื่องจากกลายเป็นเมืองขึ้นหรือสิ้นไร้อำนาจการเมือง วัฒนธรรมจึงถูกละเลยและทำลายตามไปด้วย และ
สี่ การที่คนกลุ่มใดก็ตามจะอวดอ้างความเป็น “ไท” หรือ “ไทย” และโฆษณาศิลปวัฒนธรรมของคนไทกลุ่มอื่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรและสร้างความเสียหายให้แก่วัฒนธรรมและคน “ไท” มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในภาพเป็นหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศ ในราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้รื้อถวายวัดพันเตา



หอคำของกษัตริย์เชียงใหม่
เมื่อ พญามังรายยกทัพเข้าโจมตีและยึดเมืองหริภุญไชยได้ในปี พ.ศ. ๑๘๓๕ หลังจากนั้นจึงมาสร้างเวียงกุ๋มคาม (กุมกาม) ในปี พ.ศ. ๑๘๓๗ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสารภีในปัจจุบันและมาสร้างเวียงเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์ อำนาจบนลุ่มแม่น้ำปิงในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์อำนาจของรัฐล้านนาซึ่งรวมเอาลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำปิงเข้าด้วยกันกระทั่งสามารถแผ่อิทธิพลไปถึงลุ่มแม่น้ำวัง ยม และน่าน กลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งที่สุดในบริเวณหุบเขาทั้งหลายที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำคง (สาละวิน)
การที่พญามังรายมิได้อาศัยเมืองหริภุญ ไชยเป็นศูนย์อำนาจของรัฐใหม่หลังจากที่ยึดได้แล้ว มิได้อาศัยเวียงเจ็ดลินและเวียงสวนดอก (ซึ่งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และรอบ ๆ ในปัจจุบัน) แต่ได้สร้างเมืองใหม่อีก ๒ เมืองคือ เวียงกุ๋มคาม และ เวียงเชียงใหม่ ย่อมต้องมีเหตุผลบางประการที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป
ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ปริวรรตโดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและเดวิด วัยอาจ, ๒๕๔๐) พญามังรายได้สร้างอาคารต่าง ๆ หลายหลังได้แก่หอนอน ราชวังคุ้มน้อย โรงคัล (สถานที่เข้าเฝ้า) โรงคำ (ท้องพระโรงที่เสด็จออกราชการ) เหล้ม (พระคลังมหาสมบัติ) ฉางหลวง (ที่เก็บเสบียง) โรงช้าง โรงม้า ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้รวมกันอยู่ในบริเวณหอคำ
ดังนั้น คำว่าหอคำ จึงอาจหมายถึงเฉพาะหอที่ประทับ หรือบริเวณทั้งหมดที่เป็นของกษัตริย์ก็ได้
ต่อมาภายหลัง เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมเขมร-อินเดียที่ไทสยามรับเข้ามาเผยแพร่ บวกกับคำบาลี-สันสกฤตที่เข้ามาทางวัฒนธรรมพุทธศาสนา
คำใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการด้านภาษาอีกด้านหนึ่ง สะท้อนว่าอำนาจของผู้หกครองย่อมเพิ่มขึ้นได้ด้วยปัจจัยหลายด้าน เช่นด้านภาษา และศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่คำว่า หอคำ ไม่เพียงแต่หมายถึงที่ประทับหากยังเป็นคำเรียกพระนามของกษัตริย์บางพระองค์ เช่น คำว่า “สมเด็จพระเป็นเจ้าหอคำลคอน” (ลำปาง) ส่วนในงานของบรรจบ พันธุเมธา (ไปสอบคำไท) เจ้าฟ้าของรัฐต่าง ๆ ในเขตฉาน ไม่ว่าจะเป็นคนไทเขินหรือไทใหญ่ ก็มีคำว่า “เจ้าหอคำ” “ขุนหอคำ” ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับคนอยุธยา มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า “พระเจ้าปราสาททอง”

 
ซุ้มประตูประดับไม้แกะสลักรูปนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าเชียงใหม่

เวียงแก้ว – เวียงของกษัตริย์เชียงใหม่
เวียงแก้ว คือ เวียงของกษัตริย์ หมายถึง เขตพระบรมมหาราชวังของรัฐสยามนั่นเอง เมื่อเป็นเวียงก็ย่อมหมายถึงมีกำแพงล้อมรอบ
เวียงแก้วของเวียงเชียงใหม่ตั้งอยู่ใน เขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ภายในเวียงแก้วมีหอคำอันเป็นที่ประทับ หอกลอง โรงคัล โรงคำ เหล้ม และอื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว
เวียงแก้ว ในที่นี้จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่าหอคำ เพราะเวียงแก้วรวมอาคารทั้งหมดไว้ภายใน
คำว่า แก้ว เป็นสิ่งของมีค่า ต่อมาจึงกลายเป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ดี มีคุณค่าคำนี้จึงนำไปใช้กับสิ่งอื่นที่มีคุณค่า เช่น นางแก้ว เมียแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ลูกแก้ว (ลูกชายที่ออกบวชเป็นสามเณร ส่วนบริเวณรอบพระเจดีย์ ก็เรียกว่า “ข่วงแก้ว”
จากประตูช้างเผือก ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือ อันเป็นเดชเมือง (หนึ่งในทักษาเมือง) บริเวณต่อจากนั้นจะเป็นที่โล่งกว้าง เรียกว่า “ข่วงหลวง” หรือ “สนามหลวง” เวียงแก้วจึงอยู่บริเวณใกล้ ๆ เขตหัวข่วง ที่ปัจจุบันคือวัดหัวข่วง ด้านทิศตะวันตก
คุกในหอคำ
คุกหรือที่คนเมืองเรียกว่า “ คอก ” ซึ่งมีไว้เพื่อจองจำนักโทษทั้งหลาย เอกสารในอดีตชี้ให้เห็นว่าคุกตั้งอยู่ในคุ้มหลายแห่งมิใช่มีคุกเดียวในคุ้ม เดียว และมิใช่ว่าคุกมีเฉพาะในหอคำเท่านั้น
หมายความว่าเจ้าหลวงและเจ้าายในอดีตมี อำนาจมากสามารถจับกุมคุมขังไพร่ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธร รมของยบ้านเมือง หรือไม่พอใจไพร่ทาสบางคนด้วยเหตุผลบางประการ เมื่อจับกุมคุมขังนักโทษ จึงต้องมีคุกไว้ วิธีการในสมัยก่อนก็คือสร้างคุกภายในบริเวณคุ้ม เพราะแต่ละคุ้มมีทหารและข้าราชบริพารคอยดูแลอยู่แล้ว ก็เพิ่มภาระให้ทหารเหล่านั้นดูแลคุกอีกอย่างหนึ่ง หรืออาจเพิ่มจำนวนทหารเพื่อทำหน้าที่ดูแลตรวจตราคุกเป็นพิเศษ
แรกเริ่มอาจเป็นห้องใดห้องหนึ่งโดยเฉพาะ ต่อมานานเข้า หรือเห็นว่านักโทษต้องมีสถานที่ลงโทษพิเศษ ก็อาจมีการสร้างอาคารเฉพาะหรือขุดดินลงไปให้นักโทษอยู่เพื่อยากแก่การหลบหนี
คุกกลาง หรือ คุกหลวงน่าจะหมายถึงคุกที่คุมขังนักโทษด้วยศาลลูกขุนที่แต่งตั้งโดยเจ้าหลวง เป็นคุกที่คุมขังนักโทษที่ทำผิดต่อรัฐหรือต่อบ้านเมือง หรือต่อบุคคลที่ผู้นำระดับเจ้าหลวงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงมาดูแล เอง ส่วนคุกที่อยู่ภายในของแต่ละคุ้มเป็นคุ้มเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เฉพาะภายในคุ้มนั้นนั่นเอง เช่น ลักเล็กขโมยน้อย หรือไพร่ทาสภายในคุ้มทะเลาะตบตีกัน เป็นชู้กัน หรือทำงานไม่เป็นที่พอใจของเจ้านาย หรือเจ้านายไม่ชอบใจไพร่ทาสบางคน ฯลฯ
อำนาจอันล้นฟ้าในระบอบศักดินาทำให้เจ้า หลวงและเจ้านายสามารถสั่งจับกุมคุมขังใครก็ได้อยู่แล้ว ในเมื่อทายแก้ต่างก็ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีชัดเจนในหลายกรณี จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจมีธรรมะเพียงใด และไพร่ทาสแข็งแกร่งมีอำนาจต่อรองระบบที่กดขี่ขูดรีดได้แค่ไหน
เช่น จากเอกสาร “คอกในคุ้ม คุ้มในคอก” ของสมโชติ อ๋องสกุล (๒๕๔๕) ในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงหรือเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ในราชวงศ์กาวิละ
(พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๔๐) คุกของเมืองเชียงใหม่ (อาจารย์สมโชติใช้คำว่าคุกที่เป็นทางการ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเหมือนกับคำว่าคุกกลาง หรือ State prison
มิใช่คุกของเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง) อยู่ในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ คุ้มนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีตำรวจกองเมืองบนถนนราชดำเนินในปัจจุบัน
เมื่อเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้ใช้คุกในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นคุกทางการ คุกนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณกลางเวียง เจ้าบุรีรัตน์ผู้เคยเป็นแม่ทัพปราบกบฏพญาผาบที่อำเภอสันทรายในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๓ น่าเชื่อว่าครั้งนั้นเมื่อชาวนากบฏจำนวนมากถูกจับกุมกบฏชาวนาจาก สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง สารภี และ หางดงที่ถูกจับกุมในกรณีกบฏดังกล่าวถูกนำมาคุมขังที่นี่ก่อนการประหาร
เรื่องนี้สามารถสืบได้ว่าคุกในกรุงเทพฯ และอยุธยาตั้งอยู่ที่ใด มีการคลี่คลายอย่างไร แต่สำหรับคุกในสมัยราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ที่มีหลายแห่งภายในคุ้มต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงและข้อสังเกตบางประการ ดังต่อไปนี้
ประการแรก การที่เจ้าอินทวิทชยานนท์ใช้ทุกในคุ้มของเจ้านายบางองค์เป็นคุกทางการหรือ คุกกลางน่าจะแสดงว่า คุกในหอคำไม่มี อาจจะด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้สิ่งไม่ดีอยู่ในหอคำ ด้วยหวั่นเกรงอันตรายหรือความสกปรก ฯลฯ ขณะเดียวกันก็แสดงว่าเจ้าายเจ้าของคุ้มมที่คุกนั้นเป็นคุกกลางเป็นบุคลที่ เจ้าหลวงไว้ใจ ว่าจะต้องมีระบบการป้องกันนักโทษหลบหนีอย่างดี
ประการที่สอง การที่คุกอยู่ในคุ้มใดคุ้มหนึ่งหรือหลายคุ้ม ย่อมสะท้อนให้เห็นระบบการบริหารราชการอย่างง่าย การจัดแบ่งหน่วยงานยังไม่หลากหลาย กล่าวคือ ระบบการบริหารดังกล่าวมิได้จัดตั้งคุกเป็นพิเศษ เช่น ตั้งอาคารอยู่นอกกำแพงเมืองหรือแบ่งเขตรั้วให้ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ดูแลชัดเจนตามหน่วยราชการที่ตั้งขึ้น
ดังที่ได้กล่าวแล้ว การมีคุกอยู่ในคุ้มก็อาศัยทหารภายในคุ้มนั่นเองทำหน้าที่ดูแลนักโทษในคุก อยู่ไม่ไกลจากสายตา ดูแลง่าย ไม่ต้องเพิ่มกำลังพลเพื่อดูแลเฉพาะคุก
ประการที่สาม มีความเป็นไปได้อย่างมากที่นักโทษในแต่ละคุ้มมีจำนวนไม่มากนัก จึงถูกคุมขังไว้ในแต่ละคุ้ม เพราะถ้าหากมีมากมาย ก็ย่อมมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องคิดถึงการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อดูแลควบ คุมนักโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กล่าวโดยสรุป หอคำเป็นพระราชวังของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่และเมืองต่าง ๆ ของคนไทยหลายกลุ่มหลายเมืองในบริเวณหุบเขาตั้งแต่ล้านนาขึ้นไป ส่วนเวียงแก้วแสดงให้เห็นบริเวณหอคำที่มีกำแพงล้อมรอบชัดเจน และคุ้มแต่ละแห่งมีคุกอยู่ภายในเพื่อคุมขังนักโทษ แต่คุ้มหลวงหรือเวียงแก้วหรือหอคำนั้นไม่มีคุก แต่คุกกลางอยู่ในคุ้มบางแห่งที่เจ้าหลวงชอบ …

ขอบคุณที่มา : http://www.chiangmai-thailand.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น