ค้นหาบล็อกนี้

11/17/2559

กราบสักการะพระบรมศพฯ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙



เล่าเรื่องการไปกราบสักการะพระบรมศพฯ

          อันนี้รีวิวจากเวลาเราคะ บางคนไปถูกวันก็อาจจะเร็วหน่อย  เพราะบางวันอาจจะมีพระราชพิธีที่เร็วกว่า หรือไม่ก็เข้ากราบตอนพระบรมวงศาฯเข้าทำพิธีได้ แต่บางวันก็ไม่ได้ ต้องเผื่อเวลากันด้วย

ลำดับขั้นตอน เวลา ตามรายละเอียดนี้คะ  
เราเข้าไปถึงตอน 6 โมง ผ่านจุดตรวจเข้ามา มองหาบอลลูนที่เขียนว่าคิวสุดท้าย ก็ไปตรงนั้นนะ แต่ของเราคือเค้าตั้งแถวมาละ แล้วพี่ชายก็ไปเข้ารอแล้ว เลยวิ่งไปตรงที่พี่อยู่เลย   จากนั้นเราจะได้เข้ามาในเต้นท์คะ จุดนี้กว่าจะวนๆๆๆๆๆๆ ก็ใช้เวลาสัก 3-4 ชม.คะ เพราะเรามาช่วงที่เค้ามีพระราชพิธี แล้วหยุดเข้ากราบไปเกือบชั่วโมง  ระหว่างอยู่เต้นท์นี้ก็ทานน้ำทานข้าวไรรอไปได้เลยคะ มีคนเดินมาแจกอยู่แล้ว ตอนเราไปนี่ได้นั่งกับพื้นรอคะ แต่วันนี้ดูข่าวเมื่อเช้า เค้าจัดเก้าอี้มาให้นั่งแล้วคะ   เมื่อได้เวลา เราจะออกจากเต้นท์ตรงกลางนี้ แล้วเดินออกไปทางเต้นท์ทิศใต้ ตอนเดินออกมากางร่มเลยคะ แดดร้อน   เดินผ่านเต้นท์อำนวยการมา เข้ามาในเต้นท์อีกฝั่งคะ จากนั้นก็เดินเดิน หยุดหยุด รอรอ นั่งนั่ง  ก็ไปเรื่อยๆคะ   จนมาถึงจุดคัดกรองคะ เค้าจะเช็คเสื้อผ้า ความเรียบร้อย พอเรียบร้อย เราจะได้เดินออกจากสนามหลวง ไปรอที่เต้นท์ตรงหน้าศิลปากรคะ  นั่งสักครึ่ง ชม. จะได้ลุกเดินไปเต้นท์หน้าต่อ และก็นั่งอีก แปบนึงก็จะได้ลุก เดินเข้าเครื่องสแกน  แล้วก็เดินไปประตูมณีนพรัตน์   จากจุดนี้ที่เดินออกเต้นท์ไปที่ประตูมณีนพรัตน์ก็กางร่มไป คะ ร้อนจร้า   เมื่อเข้าประตูไปก็เดินตามๆกันไปนั่นหล่ะคะ จะมีเจ้าหน้าที่คอยบอกตลอด เจ้าหน้าทีจะดูแลเราตลอดเลย   ก้าวเท้าเข้าธรณีประตูไปแล้ว  ก็สำรวมกริยามารยาทด้วยคะ  ในนั้นอาจจะมีนักท่องเที่ยว หรือคนทั่วไป เค้าก็จะเดินขวักไขว่ไปมา ถ่ายรูปสนุกสนาน  แต่เราไม่ควรนะคะ ตระหนักด้วยว่าเรามากราบสักการะฯ ควรตั้งจิตน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ควรอยู่ในอาการสำรวมคะ จริงๆเจ้าหน้าที่บอกเข้ามาในเขตวังแล้วไม่ควรใช้โทรศัพท์แล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับห้ามนะคะ ถ่ายได้แบบสุภาพ ไม่ใช่เดินเซลฟี่ไปทั่วคะ เมื่อเดินกันตามๆมาก็มีหยุดเป็นพักๆคะ  ตอนเราเดินมาถึงวัดพระแก้วนี่เป็นเวลา 14.30 แล้วก็ต้องหยุดนั่งคะ เพราะพระองค์ภาเสด็จมาพระราชพิธี นั่งรอจะได้เริ่มขยับกันอีกทีประมาณ 15.30 คะ  ประมาณ 16.00 เดินผ่านพระที่นั่งจักรีฯมาละคะ ถึงตรงนี้ต้องหยุดใช้โทรศัพท์จริงๆนะคะ ไม่งั้นโดนเชิญออกแถวคะ ห้ามถ่ายรูป แล้วเดินเข้าพระที่นั่งดุสิต ถึงตรงนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ชุดขาวๆคอยแนะนำคะ ว่าต้องเดินไปตรงไหน  เข้าแถวตามเข้ามาก็จะได้รับถุงก็อปแก็ปสีดำ แล้วเดินไปนั่งรอที่เก้าอี้ในเต้นท์ตามเจ้าหน้าที่บอก  นั่งแล้วก็ถอดรองเท้า ถุงเท้าใส่ถุงที่รับมาคะ จะนั้นเจ้าหน้าที่จะเรียกลุกเป็นเซตคะ  เดินๆเข้าแถวตามกันไปคะ เจ้าหน้าที่จะคอยบอกตลอด ทุกท่านใจดีคะ  เมื่อลุกมาจะได้มายืนเข้าแถวต่อรอขึ้นไปบนพระที่นั่งดุสิตฯ  ถึงตรงนี้ใครสะพายกระเป๋าอยู่ให้เอามาถือไว้นะคะ  ห้ามสะพายคะ  จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะเรียกให้ขึ้นไปคะ  เข้าไปนั่งเรียบร้อยแล้วก็ฟังเจ้าหน้าที่บอกให้กราบนะคะ  กราบในหลวง กราบ1 ครั้งไม่แบมือคะ  ก้มกราบแล้วอย่าพึ่งรีบเงยหน้านะคะ รอสักแปบค่อยๆเงยหน้าพร้อมกับคนอื่น  เจ้าหน้าที่จะให้เรานั่งอีกแปบนึงคะ  ให้เราได้รำลึกถึงพระองค์ท่าน   เราเองมองไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ก่อน จากนั้นมองไปที่พระบรมโกศสีทองอร่าม งดงามมาก  สักพักมองที่ทหารราชองค์รักษ์ที่ยืนอยู่ด้านใน  ตรงหน้าของทหารนั้นมีหีบพระบรมศพอยู่ตรงนั้นคะ สังเกตดีๆจะเห็นสีทองสว่างมาก  ถึงตรงนี้น้ำตาไหลละคะ  พร้อมกับเจ้าหน้าที่เชิญออก  เดินออกมาจะมีตู้รับบริจาคเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วยคะ  ออกมานิดนึงก็ใส่รองเท้า เก็บถุงคืนเจ้าหน้าที่ แล้วเข้าแถวเดินออกมา  ออกประตูมาจะได้รับภาพกับข้าวพอเพียงพระราชทานคะ ถึงตอนรับข้าวนี้เป็นเวลา 16.30 คะ  จากนั้นหันหลังกลับไปมองพระที่นั่งอีกครั้งก่อนก้าวออกมา   คิดถึงพ่อหลวงจับใจ  .... ....
             สรุปวันนี้เราใช้เวลา 10 ชม.ครึ่งคะ  แต่ถามว่ารู้สึกเหนื่อยมากไหม ไม่ค่อยเลยนะคะ  เพราะเราตั้งใจ แค่ได้มาหาพ่อหลวงใกล้ๆ ทุกข์ใดๆก็คลายลงหมดคะ
   การเข้ามาอยู่กับคนหมู่มากๆ และรอนานๆ หลายคนอาจมีอาการออกมาไม่เหมือนกัน อาจเจอคนเห็นแก่ตัว คนใจดี คนแก่ คนป่วย อะไรเยอะแยะมากมายคะ เราเองต้องระลึกด้วยคะ เพราะร้อยพ่อพันแม่กันมา การอยู่ร่วมกัน รู้จักอภัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ซึ่งสิ่งนี้เราจะเห็นได้จากตอนเข้าแถวนี้หล่ะคะ คนไทยมีน้ำใจมากมาย อาจมีส่วนน้อย ที่จะเห็นคนแสดงออกไม่ค่อยดี ก็ทำจิตอภัยกันไป 

การเตรียมตัวในการไปกราบสักการะฯ


เสื้อผ้า   
เอาแบบผู้หญิงเรานะ  ก็เสื้อมีคอมีแขน กระโปรงยาวเลยเข่า   รองเท้าหุ้มส้นสีดำ (แบบไม่มีส้นจะดีมาก)  ทั้งสามอย่างเป็นสีดำ  รูปแบบก็ใช้วิจารณญาณเอาที่ว่าสุภาพนะคะ  บางคนใส่เสื้อมีคอมีแขนมาแต่ข้างหลังซีทรูงี้ก็ไม่ไหวนะ ให้เกียรติ์สถานที่ด้วย  เพราะบางทีคนเยอะๆเจ้าหน้าทีก็อาจจะไม่ได้ดูให้ทั่วทั้งหมด  รองเท้านี่เอาที่ใส่สบายๆ ไม่จำเป็นต้องคัชชู อาจเป็นผ้าใบไรงี้ได้ เพราะตอนเข้าก็ต้องถอดใส่ถุงดำ   ใครไม่มีเสื้อผ้าพร้อม  เค้ามีให้ยืมคะ ตรงใกล้ๆจุดคัดกรอง  ใช้บัตรประชาไปลงทะเบียนยืมและแต่งตรงนั้นเลยได้ ส่วนของผู้ชายก็กางเกงสแลค (ห้ามกางเกงยีนส์) เสื้อเชิ๊ต แขนยาวหรือสั้นก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีดำ หรือสีสุภาพคะ

อุปกรณ์ที่ควรเตรียมไป        
สำหรับแต่ละคน อุปกรณ์จำเป็นไม่เหมือนกันก็ได้นะ  แต่ด้วยแบบเราแล้ว  คิดว่าอย่าหอบไรไปเยอะเลย มันนาน จะพะรุงพะรัง  จะให้ดีหิ้วกระเป๋า 1 ใบพอ อย่าเอาของใส่เยอะจนหนัก นอกจากอุปกรณ์ประจำตัวพวกกระเป๋าสตางค์ บัตรปชช. ของใช้ส่วนตัว  ในนั้นควรมีถุงก็อบแก้ปเปล่าสักอัน  ร่มแบบพับได้ เพราะจะมีช่วงนึงที่ต้องเดินตากแดดไป (จริงเค้ามีให้ยืม แต่เอาไปด้วยจะดีกว่าคะ)   พัดหรือพัดลมพกพา  กับที่รองนั่งคะ เตรียมไปเองเลย เพราะต้องนั่งค่อยเป็นช่วงๆคะ บางจุดไม่มีเก้าอี้ให้คะ
ส่วนน้ำ/อาหาร  ยาดมยาลมยาหม่องไม่ต้องก็ได้ ที่นั่นมีเต้นท์พยาบาล มีจิตอาสาคอยแจกคอยเดินสอบถามตลอดคะ

ร่างกาย และจิตใจ                               
  พักผ่อนให้เต็มที่สักคืนก่อนไปจะดีมากคะ เพราะอากาศร้อน บางวันลำบากหน่อยอาจเจอฝน เตรียมร่างกายให้ดีก่อนดีกว่าคะ  ส่วนจิตใจ ตั้งจิตให้มั่น รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณฯ  


พฤติกรรม           
กริยาควรสำรวม  บางคนรอนานๆก็เบื่อ อันนี้เข้าใจ หลายคนมาเป็นกลุ่มคณะ คุยกันเสียงดังเฮฮา คือคุยได้นะ แต่ก็เบาหน่อยก็ดี  อยู่ในกริยาที่เหมาะแก่การตั้งใจมาสักการระพระบรมศพฯ บ้าง ยิ่งโดยเฉพาะตอนเข้ามาในเขตพระบรมหาราชวังแล้วยิ่งควรตระหนัก  เวลาเมื่อยไม่ต้องถึงขนาดพับเพียบคะ นั่งแบบที่สบายๆเลย   เจ้าหน้าที่ทุกคนบริการดีและแนะนำดีมาก   เวลาอยู่ในแถว จะมีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละชุด  เค้าจะอยู่กับเราไปจนเราได้เข้ากราบฯ คะ  เวลาจะเข้าห้องน้ำทำธุระสามารถเดินออกไปได้ และก็เดินกลับมาที่แถวเดิมเราเลย ไม่ต้องกลัวว่าออกไปห้องน้ำแล้วกลับมาต้องไปต่อคิวใหม่  ถ้ามีเพื่อนไปด้วยก็ให้คนนึงอยู่ในแถว แล้วไปทำธุระทีละคนได้คะ    มีอย่างหนึ่งคะ  คือขยะ!!  คือจะมีจิตอาสาคอยแจกน้ำ แจกอาหาร  และจะมีคนคอยเก็บขยะให้ตลอดคะ  แต่!!! อาจมีบางเวลาที่เค้ายังไม่ได้เดินมาเก็บที่เรา อาจมีบางช่วงที่จะมีขยะอยู่ในมือ  ถือไว้ก่อนนะคะ แม้ว่าเดินๆไปก็ถือไว้ก่อนจะดีกว่าคะ ไม่ก็หยิบถุงก็อปแก็ปออกมาแล้วใส่ไว้ในนั้นก่อนคะ  เพราะหลายๆคนพอแถวเริ่มเดินก็ไม่ยอมถือขยะ เอาวางไว้ตามเสาเต้นท์บาง เป็นภาพที่ดูไม่ดีเลย  แค่ถือติดมือไปสักแปบเดียวเอง เดี๋ยวเราก็จะเจอถังขยะ ไม่ก็จะมีจิตอาสาเดินมาถามเก็บ    อ่อ อีกอันนึง เวลาเค้ามาแจกของกิน   อย่ากินทิ้งกินขว้าง  นึกถึงคำสอนของพ่อหลวงไว้บ้าง   บางคนหยิบทุกสิ่งที่คนมาแจก กินจนท้องจะแตกแต่ก็ยังหยิบมาอีก กินไม่หมด เสียดายของคะ

10/24/2559

เสียงที่อยากได้ยิน ภาพที่อยากเห็น - จับหมอก...ที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ

https://www.youtube.com/user/Pacificinter/videos


10/15/2559

"ความรักของในหลวงและพระราชินี"








เมื่อครั้งเสด็จ ฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๐๓ นักข่าวต่างประเทศกราบบังคมทูลถามว่า "เหตุใดพระมหากษัตริย์ไทยจึงไม่ค่อยยิ้ม" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผายพระหัตถ์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วตรัสสั้น ๆ ว่า

"She is my smile"












เรื่องราวความรักของทั้งสองพระองค์ โดยมากเป็นการเปิดเผยผ่านคำบอกเล่าและบันทึกของราชวงศ์ บุคคลสำคัญ และข้าราชบริพารที่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิด ทั้งหมดมีมุมน่ารักที่ทำให้อดยิ้มตามไม่ได้

วันหนึ่งในปีพ.ศ.2489 วันที่ทรงแรกพบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยู่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จฯ ไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อทอดพระเนตรรถยนต์พระที่นั่งแทนคันเดิมซึ่งทรงใช้มานาน โปรดเกล้าฯ ให้ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสพร้อมครอบครัวเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

วันนี้เองที่ทรงพบกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของ ม.จ.นักขัตรมงคล และ ม.ล.บัว กิติยากร ที่มารับเสด็จ โดยวันนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์แต่งตัว เรียบร้อย สวมสูทสีเนื้อ ไว้หางเปียยาวถึงหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาถึงช้ากว่ากำหนด ทราบสาเหตุภายหลังว่าเนื่องจากรถยนต์พระที่นั่งเกิดเสียและน้ำมันหมด ตรัสว่าทรงจำได้ดีถึงสีหน้าของ ม.ร.ว.สิริกิติ์ที่ทั้งหิวและรอนาน

เมื่อเสด็จฯ มาถึงราชเลขาฯ ได้เชิญแต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย แล้วให้เด็กไปรับประทานอาหารจีนอีกที่ จึงทำให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์เคืองอยู่นิดๆ

เมื่อตรัสถึงเรื่องนี้ทั้งสองพระองค์จะทรงพระสรวล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงล้อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า "เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอ คอยถอนสายบัว" 

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงกราบบังคมทูลตอบว่า "ที่หน้างอ เพราะให้แต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย เด็กกลับไล่ไปกินที่อื่น"

ก่อนทรงได้พบกับม.ร.ว.สิริกิติ์ ทรงทราบถึงความน่ารักจากสมเด็จพระราชชนนีมาก่อนแล้ว ในการเสด็จเยือนปารีสครั้งแรก สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งเป็นพิเศษว่าให้ไปทอดพระเนตรลูกสาว ของ ม.จ.นักขัตรมงคล "ว่าจะสวย น่ารักไหม" ทรงกำชับว่า "เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทร.บอกแม่ด้วย"


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงก็ทรงโทรศัพท์หาและตรัสว่า "เห็นแล้ว น่ารักมาก"

เนื่องจากเวลาเสด็จฯ ยังกรุงปารีส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่สถานทูตไทย ทำให้ครอบครัว ม.จ.นักขัตรมงคลซึ่งรวมถึง ม.ร.ว.สิริกิติ์เป็นที่คุ้นเคยเบื้องพระยุคลบาท ความที่ได้พบพระพักตร์บ่อยครั้ง ทั้งยังมีความชอบในสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะการดนตรี 

ประกอบกับนิสัยร่าเริง สุภาพอ่อนน้อม และขี้อายในบางครั้ง ทำให้ยิ่งประทับพระราชหฤทัย โดยมีความสวยงามของเมืองโลซานเป็นฉากหลังที่โรแมนติกและมีความหมายยิ่งต่อทั้งสองพระองค์

ข่าวใหญ่ที่ทำให้ประชาชนชาวไทยตกใจเป็นอย่างมากในเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 คือ ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์นอกเมืองโลซาน ระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลในตำบลเมอร์เซสนั้น รับสั่งให้ราชองครักษ์ ติดต่อไปยังม.จ.นักขัตรมงคล ให้ม.ล.บัว กิติยากร พาธิดาทั้งสองคือม.ร.ว.สิริกิติ์และม.ร.ว.บุษบาเข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการที่ โรงพยาบาลเป็นประจำทุกวัน

มีพระราชกระแสรับสั่งว่า เมื่อทรงฟื้นคืนพระสติครั้งแรก ทรงระลึกถึงบุคคลเพียง 2 คน คือสมเด็จพระราชชนนีและม.ร.ว.สิริกิติ์

เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้กล่าวว่า "สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า ส่งถวายสมเด็จพระราชชนนี พร้อมกับรับสั่งว่า 'แม่ เรียกสิริมาที'" 

ท่านผู้หญิงเกนหลงกล่าวว่า "รูปม.ร.ว.สิริกิติ์รูปนั้นเป็นรูปแรกที่ทรงถ่าย เป็นรูปหมู่ที่ถ่ายตอนบุคคลเข้าเฝ้าฯ ณ สถานทูต ม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่เป็นคนสุดท้าย เห็นหน้าไม่ชัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า 'ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ' รูปนั้นทรงตัดเฉพาะหน้าม.ร.ว.สิริกิติ์ไว้ในพระกระเป๋า"

ความที่ม.ร.ว.สิริกิติ์เข้าเฝ้าฯ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิด ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ม.จ.นักขัตรมงคลเข้าเฝ้าฯ ที่นครโลซาน ทรงมอบหมายให้ม.จ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นผู้ทูลเกริ่นทาบทามเรื่องที่จะทรงขอหมั้นก่อน ขณะที่พระองค์เองมีพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์กับม.ร.ว.สิริกิติ์ล่วงหน้าแล้ว


พระราชพิธีทรงหมั้นจัดขึ้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 โดยค่ำวันที่ 12 สิงหาคม 2492 มีงานเลี้ยงที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยทราบ โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ประกาศ ข่าวที่เผยแพร่ออกไปนำมาซึ่งความดีใจแก่ประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง สื่อ มวลชนหลายสำนักทั่วโลกต่างนำเสนอข่าวนี้

หลังพระราชพิธีหมั้นผ่านไป 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติประเทศไทยทางชลมารค โดยมีม.ร.ว.สิริกิติ์และครอบครัว รวมถึงข้าราชบริพารตามเสด็จ

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประมาณ 1 เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2493 ณ วังสระปทุม

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านสถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแก่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

วันต่อมาเสด็จฯ ไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและฮันนีมูนที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 3 วัน พร้อมด้วยคณะผู้ตามเสด็จโดยรถไฟ

ตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ นั้นมีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น ส่วนหนึ่งต้องการยลพระสิริโฉมของพระราชินีนั่นเอง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติหน้าที่ภรรยาโดยไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเสด็จฯ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอ ทั้งในและต่างประเทศและในถิ่นทุรกันดาร ทรงเป็นตัวอย่างของคำว่า "คู่ทุกข์คู่ยาก"

จากความรักแบบหนุ่มสาว เมื่อทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทุ่มเทความรัก ทรงอบรมพระราชโอรส-ธิดาของพระองค์เป็นคนดี และรับผิดชอบต่อประชาชนและบ้านเมือง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROc1lXUXdNVEV3TURJMU5RPT0=&sectionid=TURNeE5BPT0=&day=TWpBeE1pMHdNaTB4TUE9PQ==
"ความกตัญญูของในหลวง"


กษัตริย์...ยอดกตัญญู 


ความหวังของแม่    ที่มีต่อลูก 3 หวังคือ 
1) ยามแก่เฒ่า หวังเจ้า เฝ้ารับใช้ 
2) ยามป่วยไข้ หวังเจ้า เฝ้ารักษา 
3) เมื่อถึงยาม ต้องตาย วายชีวา หวังลูกช่วย ปิดตา เมื่อสิ้นใจ

     ในหลวง  นอกจากจะเป็น ยอดพระมหากษัตริย์ของโลก    เป็น THE KING OF KINGS แล้ว ในหลวงของเรา ยังเป็นกษัตริย์ยอดกตัญญูด้วย ความหวังของแม่  ทั้ง 3 หวัง ในหลวงปฏิบัติได้ครบถ้วน  สมบูรณ์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด


วังที่ 1. ยามแก่เฒ่า   หวังเจ้า   เฝ้ารับใช้   
       ใครเคยเห็นภาพที่สมเด็จย่า เสด็จไปในที่ต่าง ๆ แล้วมีในหลวง  ประคองเดินไปตลอดทาง   เคยเห็นไหม   ใครเคยเห็น   กรุณายกมือให้ดูหน่อย   ขอบคุณ   เอามือลง ตอนสมเด็จย่าเสด็จไปไหน   มีคนเยอะแยะ  มีทหาร   มีองครักษ์    มีพยาบาล    ที่คอยประคองสมเด็จย่าอยู่แล้ว แต่ในหลวงบอกว่า   "ไม่ต้อง" คนนี้เป็นแม่เรา   เราประคองเอง ตอนเล็ก ๆ แม่ประคองเรา สอนเราเดิน หัดให้เราเดิน    เพราะฉะนั้น    ตอนนี้แม่แก่แล้ว   เราต้องประคองแม่เดิน เพื่อเทิดพระคุณท่าน    ไม่ต้องอายใคร    เป็นภาพที่ประทับใจมาก    เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านกตัญญูต่อแม่    ประคองแม่เดิน ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ     สองข้างทาง ฝั่งนี้ 5,000 คน ฝั่งโน้น  8,000 คน  ยกมือขึ้นสาธุ แซ่ซ้อง   สรรเสริญ "กษัตริย์ยอดกตัญญู" ในหลวงเดินประคองแม่   คนเห็นแล้วเขาประทับใจถ่ายรูป   เอามาทำปฏิทิน    เอาไปติดไว้ที่บ้าน เพื่อแสดงความเคารพกราบไหว้   



     หลังงานพระบรมศพสมเด็จย่าเสร็จสิ้นลงแล้ว  ราชเลขาของสมเด็จย่ามาแถลงในที่ประชุม   ต่อหน้าสื่อมวลชนว่า    ก่อนสมเด็จย่าจะสิ้นพระชนม์ปีเศษ   ตอนนั้นอายุ 93  ในหลวงเสด็จจากวังสวนจิตร    ไปวังสระปทุมตอนเย็นทุกวัน ไปทำไมนั่นหรือ   ไปกินข้าวกับแม่    ไปคุยกับแม่   ไปทำให้แม่ชุ่มชื่นหัวใจ    พอเขาแถลงถึงตรงนี้  อาจารย์ตกตะลึง    โฮ้โห  ขนาดนี้เชียวหรือในหลวงของเรา เสด็จไปกินข้าวมื้อเย็นกับแม่    สัปดาห์ละ   5 วัน  อยู่คนละบ้านกับแม่ แล้วไปกินข้าวกับแม่   สัปดาห์ละ 5 วัน  หายาก   ในหลวง มีโครงการเป็นร้อยเป็นพันโครงการ    มีเวลาไปกินข้าวกับแม่   สัปดาห์ละ 5 วัน 
     พ่อแม่พอแก่แล้ว ก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง    ฝนตก   น้ำเซาะ   อีกไม่นานโค่น    พอถึงวันนั้น   เราก็ไม่มีแม่ให้กราบแล้ว    ในหลวงจึงตัดสินพระทัย    ไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละ 5 วัน เมื่อตอนที่สมเด็จย่าอายุ   93 สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน ในหลวงไปกินข้าวกับแม่ 5 วัน อีก 2 วัน ไปไหนครับ    ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์   องคมนตรี บอกว่า   ในหลวงถือศีล 8 วันพระ ถือศีล 8 นี่ยังไง  ต้องงดข้าวเย็น    เลยไม่ได้ไปหาแม่   วันนี้เพราะ ถือศีล อีกวันหนึ่งที่เหลือ    อาจจะกินข้าวกับพระราชินี   กับคนใกล้ชิด แต่ 5 วันให้แม่ 
     
   ทุกครั้งที่ในหลวงไปหาสมเด็จย่า    ในหลวงต้องเข้าไปกราบที่ตัก    แล้วสมเด็จย่าก็จะดึงตัวในหลวงเข้ามากอด   กอดเสร็จก็หอมแก้ม    ใครเคยเห็นภาพสมเด็จย่า   หอมแก้มในหลวงบ้าง   ภาพนี้ถ้าใครมี   ต้องเอาไปใส่กรอบ เป็นภาพความรักของแม่ที่มีต่อลูกอย่างยอดเยี่ยม ตอนสมเด็จย่าหอมแก้มในหลวง   คิดว่า แก้มในหลวงคงไม่หอมเท่าไร    เพราะไม่ได้ใส่น้ำหอม  แต่ทำไมสมเด็จย่าหอมแล้วชื่นใจ    เพราะท่านได้กลิ่นหอม    จากหัวใจในหลวง หอมกลิ่นกตัญญู ไม่นึกเลยว่า   ลูกคนนี้จะกตัญญูขนาดนี้ จะรักแม่มากขนาดนี้ ตัวแม่เองคือสมเด็จย่า   ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นคนธรรมดา   สามัญชน   เป็นเด็กหญิงสังวาลย์เกิดหลังวัดอนงค์   เหมือนเด็กหญิงทั่วไป    เหมือนพวกเราทุกคนในที่นี้ในหลวงน่ะ    เกิดมา เป็นพระองค์เจ้า เป็นลูกเจ้าฟ้า ปัจจุบันเป็นกษัตริย์   เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือหัว แต่ในหลวงที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินก้มลงกราบคนธรรมดาที่เป็นแม่ หัวใจลูก   ที่เคารพแม่    กตัญญูกับแม่อย่างนี้หาไม่ได้อีกแล้ว     




     ปกติแค่เห็นลูกมาเยี่ยม   ก็ชื่นใจแล้ว    นี่ลูกมากินข้าวด้วย   ยิ่งปลื้มใจ แม่ทั้งหลายลองคิดดูซิ    อะไรอร่อย ๆ ในหลวงจะตักใส่ช้อนแม่    อันนี้อร่อย   แม่ลองทาน    รู้ว่าแม่ชอบทานผัก    หยิบผักมาม้วน ๆ ใส่ช้อนแม่    เอ้าแม่   แม่ทานซะ   ของที่แม่ชอบ แทนที่จะกินแค่ 3 คำ 4 คำ ก็เจริญอาหาร   กินได้เยอะ เพราะมีความสุข ที่ได้กินข้าวกับลูก มีความสุขที่ลูกดูแล   เอาใจใส่     กินข้าวเสร็จแล้ว   ก็มานั่งคุยกับแม่    ในหลวงดำรัสกับแม่ว่าไง   ทราบไหม    ตอน ในหลวงเล็ก ๆ   แม่เคยสอนอะไรที่สำคัญ    "อยากฟังแม่สอนอีก" เป็นยังไงบ้าง   เป็นกษัตริย์   ปกครองประเทศ    อยากฟังแม่สอนอีก   


     
พอสมเด็จย่าสอน    ในหลวงจะเอากระดาษมาจด    มีอยู่เรื่องหนึ่งที่จำได้แม่น    สมเด็จย่า   เล่าว่าตอนเรียนหนังสือที่ Swiss ในหลวงยังเล็กอยู่   เข้ามาบอกว่าอยากได้รถจักรยาน เพื่อน ๆ เขามีจักรยานกัน แม่บอกว่า   ลูกอยากได้จักรยาน    ลูกก็เก็บสตางค์   ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้ซิ    เก็บมาหยอดกระปุก   วันละเหรียญ   สองเหรียญ พอได้มากพอ   ก็เอาไปซื้อจักรยาน    นี่คือสิ่งที่แม่สอน   สมเด็จย่านี่เป็นยอดคุณแม่    สร้างคุณธรรมให้แก่ลูก    ลูกอยากได้   ลูกต้องเก็บสตางค์ที่แม่ให้   ไปหย่อนกระปุก    แม่สอน 2 เรื่อง คือ   ให้ประหยัด  ให้ยืนอยู่บน ขาของตัวเอง "ความประหยัด   เป็นสมบัติของเศรษฐี"ใครสอนลูกให้ประหยัดได้    คนนั้นกำลังมอบความเป็นเศรษฐีให้แก่ลูก 


     พอถึงวันปีใหม่    สมเด็จย่าก็บอกว่า    "ปีใหม่แล้วเราไปซื้อจักรยานกัน   " เอ้า   แคะกระปุก   ดูซิว่ามีเงินเท่าไร    เสร็จแล้วสมเด็จย่าก็แถมให้    ส่วนที่แถมนะมากกว่าเงินที่มีในกระปุกอีก    มีเมตตาให้เงินลูก    ให้ไม่ได้ให้เปล่า   สอนลูกด้วย   สอนให้ประหยัด สอนว่า   อยากได้อะไร   ต้องเริ่มจากตัวเรา    คำสอนนั้นติดตัวในหลวงมาจนทุกวันนี้    เขาบอกว่า  ในสวนจิตรนี่    คนที่ประหยัดที่สุด   คือในหลวง   ประหยัดที่สุด   ทั้งน้ำ   ทั้งไฟ    เรื่องฟุ้งเฟ้อ   ฟุ่มเฟือยไม่มี    เป็นอันว่าภาพนี้ชัดเจน   




หวังที่ 2. ยามป่วยไข้   หวังเจ้า   เฝ้ารักษา 
      ดูว่าในหลวง ทำกับแม่ ยังไง    สมเด็จย่า   ประชวร อยู่ทีโรงพยาบาลศิริราช    ในหลวงไปเยี่ยม   ตอนไหนครับ   ไปเยี่ยมตอน ตี 1 ตี 2 ตี 4 เศษ ๆ   จีงเสด็จกลับ    ไปเฝ้าแม่วันละหลายชั่วโมง    แม่พอเห็นลูกมาเยี่ยม   ก็หายป่วยไปครึ่งหนึ่งแล้ว    ทีมแพทย์ที่รักษาสมเด็จย่า    เห็นในหลวงมาเยี่ยม มาประทับ ก็ต้องฟิต   ตามไปด้วย ต้องปรึกษาหารือกันตลอดว่า   จะให้ยายังไง   จะเปลี่ยนยาไหม    จะปรับปรุงการรักษายังไงให้ดีขึ้น    ทำให้สมเด็จย่าได้รับการดูแลที่ดีขึ้น    เห็นภาพไหม   กลางคืนในหลวงไปอยู่กับสมเด็จย่า    คืนละหลายชั่วโมง   ไปให้ความอบอุ่นทุกคืน   ในหลวง   เสด็จไปประทับกับแม่    ตอนแม่ป่วยไปทุกวัน   ไปให้ความอบอุ่น   ประทับอยู่วันละหลายชั่วโมง   นี่คือสิ่งที่ในหลวงทำ คราวหนึ่งในหลวงป่วย   สมเด็จย่าก็ป่วย    ไปอยู่ศิริราช   ด้วยกัน   อยู่คนละมุมตึก    ตอนเช้าในหลวงเปิดประตูแอ๊ดออกมา    พยาบาลกำลังเข็นรถสมเด็จย่า    ออกมารับลมผ่านหน้าห้องพอดี   ในหลวง   พอเห็นแม่รีบออกจากห้อง   มาแย่งพยาบาลเข็นรถ  มหาดเล็กกราบทูลว่า   ไม่เป็นไร    ไม่ต้องเข็น  มีพยาบาลเข็นให้อยู่แล้ว ในหลวงมีรับสั่งว่า   แม่ของเรา  ทำไมต้องให้คนอื่นเข็น   เราเข็นเองได้    นี่ขนาดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน   เป็นกษัตริย์   ยังมาเดินเข็นรถให้แม่ ยังมาป้อนข้าว   ป้อนน้ำให้แม่   ป้อนยาให้แม่ ให้ความอบอุ่นแก่แม่   เลี้ยงหัวใจแม่  


หวังที่ 3. เมื่อถึงยาม   ต้องตาย   วายชีวา    หวังลูกช่วย   ปิดตา      เมื่อสิ้นใจ   
     วันนั้น    ในหลวงเฝ้าสมเด็จย่า อยู่จนถึงตี 4 ตี 5   เฝ้าแม่อยู่ทั้งคืน    จับมือแม่   กอดแม่   ปรนนิบัติแม่    จนกระทั่งแม่หลับจึงเสด็จกลับ   พอไปถึงวังเขาโทรศัพท์มาแจ้งว่า   สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์    ในหลวงรีบเสด็จกลับไปศิริราช    เห็นสมเด็จย่านอนหลับตาอยู่บนเตียง      ในหลวงตรงเข้าไป   คุกเข่า    กราบลงที่หน้าอกแม่    พระพักตร์ในหลวง   ตรงกับหัวใจแม่    ขอหอมหัวใจแม่เป็นครั้งสุดท้าย    ซบหน้านิ่งอยู่นาน    แล้วค่อย ๆ   เงย พระพักตร์ขึ้น   น้ำพระเนตรไหลนอง    ต่อไปนี้   จะไม่มีแม่ให้หอมอีกแล้ว    เอามือ   กุมมือแม่ไว้ มือนิ่ม ๆ    ที่ไกวเปลนี้แหละ ที่ปั้นลูกจนได้เป็นกษัตริย์    เป็นที่รักของคนทั้งบ้านทั้งเมือง     ชีวิตลูกแม่ปั้น    มองเห็นหวีปักอยู่ที่ผมแม่    ในหลวงจับหวีค่อย ๆ หวีผมให้แม่    หวีให้แม่สวยที่สุด   แต่งตัวให้แม่   ให้แม่สวยที่สุด    ในวันสุดท้ายของแม่   เป็นภาพที่ประทับใจ เป็นสุดยอดของลูกกตัญญู    หาที่เปรียบไม่ได้อีกแล้ว   กษัตริย์... ยอดกตัญญู



ขอบคุณข้อมูลจาก
จาก  เว็บไซต์  http://love4home.com   (คัดจากหนังสือ  หยุดความชั่วที่ไล่ล่าตัวคุณ ของ
พ.อ.(พิเศษ) ทองคำ)

"พ่อจากไปแล้ว"



"ฉันเกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙"
Born in the reign of 💛 KING BHUMIBOL ADULYADEJ
สิ้นสุดรัชสมัย รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์ จักรี
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีวอก
ชีววาร(ช) อาสยุชมาส อัฐศก จุลศักราช ๑๓๗๘
คริสตศักราช 2016 , มหาศักราช ๑๙๓๘
รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๕ , สุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน
จันทรคติ เป็น ปกติมาส อธิกวาร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร
สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ( ร.๙ )
สวรรคต เวลา ๑๕:๕๒ น. ณ โรงบาลสิริราช
พระชนมพรรษา ๘๙ ปี
ทรงครองสิริราชสมบัติ ๗๐ พรรษา

His Majesty King Bhumibol Adulyadej (Rama IX) of Thailand has passed away peacefully at Siriraj Hospital, on 13 October 2016, 15.52 hrs.
In remembrance of His Majesty " King Bhumibol Adulyadej "
1927-2016
Always our beloved King
ขอเก็บเรื่องราวของพระองค์ ไว้ในจิตอันจงรักภักดีนี้ตลอดไป

ฉันเกิดในบ้านหลังใหญ่
บ้านที่มีคนอยู่หลายสิบล้านคน
บ้านที่มีพระมหากษัตริย์เป็น "พ่อ"
บ้านที่มีองค์ราชินีเป็น "แม่"
-------------------------


ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ